ประวัติความเป็นมา (overview)
..........อุตสาหกรรมการเงินเป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินที่บริหารจัดการลงทุนโดยตรง หรือบริษัทเอกชนทั่วไปที่ต้องจัดการเงินสดคงเหลือผ่านช่องทางลงทุนต่างๆ ย่อมต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเครื่องมือเชิงปริมาณทางการเงินที่มีความซับซ้อน และบุคลากรที่ความเข้าใจด้านสภาพแวดล้อมทางการเงินทั้งภายในและภายนอกองค์กรเป็นอย่างดี เพื่อเข้ามาทำการประเมินและจัดการความเสี่ยงและผลตอบแทนให้แก่องค์กร บุคคลากรเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้แก่องค์กรอย่างยั่งยืน แต่ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่มีหลักสูตรที่เตรียมนิสิตให้มีความพร้อมสำหรับวิชาชีพในอุตสาหกรรมการเงินโดยเฉพาะ ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว .จึงได้มอบหมายให้. รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม .และ. ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ คูวัฒนเธียรชัย, CFA ในฐานะผู้บริหารโครงการปริญญาโทการเงินประจำภาควิชา เป็นผู้ร่างหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) ขึ้น หลักสูตรนี้มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิตที่มีทักษะขั้นสูงในการบริหารการเงิน เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจให้บริการทางการเงินทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการเงิน การธนาคาร และประกันภัย ซึ่งในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่สูงอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรนี้ใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 2 ปี ประกอบไปด้วยด้วยวิชาเอกบังคับ วิชาเอกเลือก และทางเลือกในการทำวิทยานิพนธ์ หรือ การศึกษาค้นคว้าอิสระ
..........หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) ในโครงการปริญญาโทการเงิน สังกัดภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นพัฒนาให้นิสิตมีทักษะทางการบริหารการเงินให้รอบด้าน นอกจากวิชาด้านการเงินตามประเพณีนิยมแล้ว หลักสูตรนี้ยังประกอบไปด้วยวิชาที่เจาะลึกถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการเงินและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยแวดล้อมด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การติดต่อสื่อสาร วิศวกรรม สังคมและวัฒนธรรม รัฐบาล และปัจจัยภายแวดล้อมระหว่างประเทศ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) รับผู้สมัครที่จบปริญญาตรีทุกสาขา ทั้งบัณฑิตจบใหม่ และผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมการเงินหรือมีความสนใจจะทำงานในอุตสาหกรรมการเงิน หลักสูตรนี้ยังเหมาะกับผู้สมัครที่มีพื้นฐานทั้งทางสายสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นแขนงวิชาใน “ศิลปศาสตร์”
..........ในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งล่าสุด (ปี พ.ศ. 2565) เนื้อหาของรายวิชาหลายตัวได้ถูกปรับให้มีความเชื่อมโยงกับหลักสูตรวิชาชีพทางการเงินที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เช่น หลักสูตรนักวิเคราะห์การเงิน หรือ Chartered Financial Analyst (CFA) และหลักสูตรการวางแผนการเงิน หรือ Certified Financial Planning (CFP)
การเข้าศึกษา (admission)
กลุ่มเป้าหมาย
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะของผู้เรียนเพื่อการประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ อาทิ
- - นักวางแผนการเงิน
-
- - การลงทุน (ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจเพื่อรายย่อย)
- - การจัดการลงทุน (กองทุนที่มีหน้าที่บริหารเงินของนักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นายหน้าหลักทรัพย์)
- - แผนกที่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินขององค์กร
- - ตลาดทุน (การจัดการความเสี่ยงและการแลกเปลี่ยน)
- - การเงินธุรกิจ (กองทุนร่วมลงทุน การปรับโครงสร้างองค์กร)
- - นักวางแผนธุรกิจ และที่ปรึกษาธุรกิจ ที่ต้องการความรู้ขั้นสูงด้านการเงิน
- - บริษัทบัญชี องค์กรกำกับดูแล บริษัทกฎหมาย บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนักลงทุนสัมพันธ์ที่ต้องการความรู้ขั้นสูงด้านการเงิน
- - แผนกการเงินขององค์กรภาคสาธารณะและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เช่น ธนาคารกลาง องค์การบริหารส่วนภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศ
กลุ่มการเรียนการสอน
..........หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้สมัครที่ต้องการเรียนให้จบหลักสูตร ยังสามารถทำงานเต็มเวลาในหน่วยงานของตนเองไปด้วย โดยจะแบ่งกลุ่มนิสิตออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ทำวิทยานิพนธ์ และ (2) กลุ่มที่ทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ ในช่วงแรกของหลักสูตร ทั้ง 2 กลุ่มจะเรียนวิชาเอกบังคับร่วมกันในทุกวันเสาร์ เวลา 9.00 – 20.00 น. และอาจจะแยกชั้นเรียนในช่วงการเรียนวิชาเอกเลือก การตัดสินใจสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรในกลุ่มทำวิทยานิพนธ์ หรือกลุ่มทำการศึกษาค้นคว้าอิสระนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ส่วนตัวของนิสิต แต่ไม่ว่าผู้สมัครจะเลือกเข้าศึกษาในกลุ่มใด ก็จะได้ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) และต้องศึกษาวิชาในหลักสูตรให้ได้อย่างน้อย 36 หน่วยกิต เหมือนกันทุกกลุ่ม
กลุ่มทำวิทยานิพนธ์ ถูกออกแบบมาสำหรับผู้สมัครที่ต้องการมีทักษะด้านการวิจัยทางการเงิน (เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านการเงินในอนาคต) ควบคู่ไปกับทักษะการบริหารการเงินขั้นสูงที่หลักสูตรนี้เตรียมไว้ให้ นิสิตที่สมัครเข้าศึกษาในกลุ่มนี้ ต้องทำวิทยานิพนธ์จำนวน 12 หน่วยกิต และไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมการเงิน แต่ต้องแสดงให้ผู้บริหารหลักสูตรเห็นว่าทำไมจึงควรรับเข้าศึกษา
กลุ่มทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ ถูกออกแบบมาสำหรับผู้สมัครที่ต้องการมีทักษะด้านการบริหารการเงินที่หลากหลายไว้ใช้ในอาชีพของตน แต่ไม่ได้สนใจที่จะทำงานด้านการวิจัยทางการเงิน หรือศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านการเงินในอนาคต นิสิตกลุ่มวันสุดสัปดาห์ต้องทำการศึกษาค้นคว้าอิสระจำนวน 6 หน่วยกิต และต้องศึกษาวิชาเอกเลือกให้ได้อย่างน้อย 10 หน่วยกิต ซึ่งหมายความว่านิสิตกลุ่มนี้จะมีวิชาเอกเลือกมากกว่านิสิตกลุ่มทำวิทยานิพนธ์อยู่ประมาณ 2 วิชา กลุ่มทำการศึกษาค้นคว้าอิสระจึงเหมาะสำหรับผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมการเงินมาบ้าง
ใช้ตารางต่อไปนี้เลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้กับตนเอง
ตารางเปรียบเทียบการเรียนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) ระหว่างกลุ่มทำวิทยานิพนธ์ vs กลุ่มทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ
กลุ่มทำวิทยานิพนธ์ | กลุ่มทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ |
สามารถทำงานเต็มเวลาในหน่วยงานของตนเองควบคู่กับการศึกษาในหลักสูตรไปด้วย | สามารถทำงานเต็มเวลาในหน่วยงานของตนเองควบคู่กับการศึกษาในหลักสูตรไปด้วย |
เรียนทุกวันเสาร์ เวลา 9.00 – 20.00 น. | เรียนทุกวันเสาร์ เวลา 9.00 – 20.00 น. |
ต้องทำวิทยานิพนธ์ | ต้องทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ |
ผู้ที่ต้องการมีผลงานด้านวิจัยในสาขา/หัวเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานในปัจจุบันหรือในอนาคต | ผู้ที่ต้องการมีทักษะด้านการบริหารการเงินที่หลากหลายไว้ใช้ในอาชีพของตน |
ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการเงิน | ควรมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการเงินมาบ้าง |
ค่าเล่าเรียนประมาณ 330,000 บาท* | ค่าเล่าเรียนประมาณ 330,000 บาท* |
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับคุณหรือไม่
..........หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) เป็นหลักสูตรที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะก้าวหน้าในอาชีพของตนเองในสาขาการเงิน หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานด้านการบริหารการเงิน นอกจากนี้หลักสูตรนี้ยังถูกออกแบบมาสำหรับผู้สมัครที่ไม่มีพื้นฐานด้านการเงิน แต่มีความสนใจจะลงทุนหรือทำงานในอุตสาหกรรมการเงินในอนาคต
ประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง
..........ประสบการณ์จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาหากผู้สมัครมีประสบการณ์ทำงานในแวดวงการเงิน หรือวงการที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ทำงานในองค์กรทางการเงิน นักการเงินในองค์กร นักบัญชี นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นักกฎหมายธุรกิจ นักหนังสือพิมพ์การเงิน หรือ นักเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมด้านการเงิน เป็นต้น การมีประสบการณ์ในการทำธุรกรรมทางการเงินมาพอสมควร จะทำให้สามารถมีส่วนร่วมกับการอภิปรายกรณีศึกษาในชั้นเรียน ผู้สมัครที่ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศควรมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นอย่างดี
การนำไปใช้และการประยุกต์ใช้
..........การเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) จะเน้นเรื่องการนำไปใช้และการประยุกต์ใช้เป็นหลัก ดังนั้นประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการเงินของนิสิตจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับบุคลากรในสายการเงินที่ต้องการสลับสายงานภายในอุตสาหกรรมหรือพัฒนาทักษะด้านการเงินของตนให้กว้างและลึกยิ่งขึ้น หรือบุคลากรในสายงานอื่นที่ต้องการสลับสายงานมาสาขาการเงินในอนาคตหรือต้องการลงทุนในตลาดการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง
..........ทีมผู้บริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) ต้องการรับผู้สมัครที่สามารถนำความรู้จากการศึกษาในหลักสูตรไปใช้ในอาชีพของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ที่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จในอาชีพของตนในอนาคต นอกจากนี้ผู้สมัครจะต้องแสดงให้ผู้บริหารหลักสูตรเห็นว่าตนเองมีความรับผิดชอบ ประสบการณ์ แรงจูงใจ และศักยภาพที่จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวอย่างสูงสุด
ประวัติการศึกษา
..........ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (หรือเทียบเท่า) ไม่จำกัดสาขาวิชา และควรมีผลการศึกษาอยู่ในระดับพอใช้ ผู้ที่ได้รับเกียรตินิยมจากการศึกษาในระดับปริญญาตรี จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การเงินประยุกต์) ให้กรอกประวัติส่วนตัว และแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้
เอกสารที่ใช้ในการสมัครและการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา
ผู้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จะต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- - ใบสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตที่กรอกข้อมูลครบถ้วน
- - ประวัติส่วนตัวโดยสังเขป (curriculum vitae)
- - สำเนาใบแสดงผลการศึกษา (transcript)
- - สำเนาปริญญาบัตร 1 ชุด
- - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ 1 ชุด
- - หนังสือแสดงผลการทดสอบภาษาอังกฤษ (ถ้ามี)
- - หนังสือแสดงความคาดหวัง 1 ชุด (ไม่เกิน 1 หน้า A4)
- - รูปถ่ายสี ขนาด 1 นิ้ว 1 รูป
การคัดเลือกจะใช้วิธีสอบสัมภาษณ์
ค่าใช้จ่าย
..........ค่าใช้จ่ายในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จะเหมือนกันทั้ง 2 กลุ่มการเรียนการสอนที่ผู้สมัครเลือก ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 2 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 330,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวดดังนี้
ภาคการศึกษาที่ 1 | 90,000 บาท |
ภาคการศึกษาที่ 2 | 90,000 บาท |
ภาคการศึกษาที่ 3 | 80,000 บาท |
ภาคการศึกษาที่ 4 | 70,000 บาท |
..........โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวครอบคลุมค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าหน่วยกิต หนังสือตำรา (textbook) เอกสารประกอบการสอน ค่าบำรุงห้องสมุด เงินสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอน และค่าอาหารว่าง แต่ไม่ครอบคลุมค่าธรรมเนียมดังต่อไปนี้
..........- ค่าเรียนภาษาอังกฤษในหลักสูตร (กรณีสอบไม่ผ่านและไม่สามารถนำผลการทดสอบภาษาอังกฤษที่เทียบเคียงมาแสดงได้)
..........- กรณีผู้ไม่สำเร็จการศึกษาภายในระเวลา 2 ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสถานภาพนิสิตภาคการศึกษาละ 5,000 บาท ตามอัตราปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำหนดไว้ และอาจต้องลงทะเบียนเพิ่มเติมในรายวิชาที่ทีมผู้บริหารหลักสูตรกำหนด
ติดต่อสอบถามได้ที่
โครงการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงินประยุกต์ (ภาคพิเศษ) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02-9428777 # 1933-1936, เบอร์มือถือ 081-8343939